messager
 
เทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง call ข้อมูลการติดต่อ
ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ เทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี
insert_drive_file ข้อมูลหน่วยงาน
ประวัติความเป็นมา
ตำบลท่าหลวง เดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอชัยบาดาล ต่อมาได้แยกจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอท่าหลวง และยกฐานะเป็นอำเภอท่าหลวง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๒ โดยที่ว่าการอำเภอท่าหลวงตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหลวง สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "ท่าหลวง" เมื่อหลายสิบปีก่อนบริเวณฝั่งซ้ายตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก เป็นป่าสงวนแห่งชาติ มีต้นไม้หนาทึบและสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำป่าสักชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่อ อยู่อาศัย และต้องข้ามแม่น้ำมาเพื่อล่าสัตว์ ตัดฟืน ชาวบ้านจึงเรียกป่าสงวนแห่งนั้นว่า "ป่าหลวง" และบริเวณที่ข้ามแพของชาวบ้านเรียกว่า "ท่าหลวง"
ลักษณะทั่วไป
เทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง เป็นหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ได้รับการยกฐานะขึ้นจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 9 ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ลักษณะที่ตั้ง เทศบาลตำบลบ้านท่าหลวงตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 3 บางส่วน หมู่ที่ 4 บางส่วนและหมู่ที่ 9 บางส่วนของตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดลพบุรี มีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร และมีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ มาทางทิศเหนือประมาณ 205 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 13 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้ ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ฝั่งตะวันออกห่างจากศูนย์กลางถนนสายท่าหลวง-หัวลำ (ถนนเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ไปทางเหนือตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 300 เมตร เป็นเส้นขนานระยะ 800 เมตร กับถนนสายท่าหลวง-หัวลำ (ถนนเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ไปทางทิศตะวันออกถึงหลักเขตที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายวังม่วง-บัวชุม ฟากตะวันออกห่างจาก ศูนย์กลางถนนสายท่าหลวง-หัวลำ(ถนนเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ไปทางเหนือตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 800 เมตร จากหลักเขตที่ 2 เลียบริมถนนสายวังม่วง-บัวชุม ฟากตะวันออกไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายวังม่วง-บัวชุม ฟากตะวันออกห่างจากศูนย์กลางถนนสายท่าหลวง-หัวลำ (ถนนเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ไปทางเหนือระยะ 150 เมตรจากหลักเขตที่ 3 เป็นเส้นขนานระยะ 150 เมตร กับถนนสายท่าหลวง-หัวลำ (ถนนเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ไปทางทิศตะวันออกถึงหลักเขตที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายทะเลวังวัด-บ้านโพธิ์งาม ฟากตะวันออกห่างจากศูนย์กลางถนนสายท่าหลวง-หัวลำ (ถนนเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ไปทางเหนือระยะ 150 เมตร ด้านตะวันออก จากหลักเขตที่ 4 เลียบริมถนนสายทะเลวังวัด-บ้านโพธิ์งาม ฟากตะวันออกไปทางทิศใต้ผ่านถนนสายชัยบาดาล-บ้านโพธิ์งาม ฟากตะวันออกห่างจากศูนย์กลางถนนสายชัยบาดาล-ด่านขุนทดไปทางทิศใต้ตามแนวเส้นตั้งฉาก ระยะ 2,000 เมตร ด้านใต้ จากหลักเขตที่ 5 เป็นเส้นขนาน ระยะ 2,000 เมตร กับถนนสายชัยบาดาล-ด่านขุนทด ไปทางทิศตะวันตก ถึงหลักเขตที่ 6 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายวังม่วง-บัวชุม ฟากตะวันออกจากหลักเขตที่ 6 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ฝั่งตะวันออกตรงปากคลองพุพะเนียงฝั่งใต้ ด้านตะวันตก จากหลักเขตที่ 7 เลียบริมแม่น้ำป่าสัก ฝั่งตะวันออกไปทางทิศเหนือจนบรรจบหลักเขตที่ 1ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 13 ตารางกิโลเมตร ประชากร ประชากรตามสถิติการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 เดือน กันยายน พ.ศ.2559 ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง มีประชากรทั้งสิ้น 3,983 คน แยกเป็น - จำนวนประชากรชาย 1,985 คน - จำนวนประชากรหญิง 1,998 คน - จำนวนครัวเรือน 1,860 ครัวเรือน
โครงสร้างพื้นฐาน
การคมนาคม การจราจร/ ขนส่ง เส้นทางคมนาคมหลักของเทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง คือทางรถยนต์ โดยมีทางหลวงแผ่นดินจำนวน 2 สาย เป็นเส้นทางหลักในการสัญจร ได้แก่ ลำดับ รายการ ขนาด/ระยะทาง 1 ถนนสายชัยบาดาล-ด่านขุนทด 5 กม. 2 ถนนสายลำนารายณ์-วังม่วง 2.8 กม. และมีถนนเทศบาลเป็นเส้นทางเชื่อมในแต่ละชุมชน การจัดการขนส่งมวลชน เทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง มีรถยนต์โดยสารประจำทางวิ่งผ่าน 4 สาย คือ - สายลพบุรี – เขาน้อย - สายลพบุรี – ท่าหลวง – ลำนารายณ์ - สายกรุงเทพฯ – วัดเขาสมโภชน์ - สายเชียงใหม่ – นครราชสีมา การประปา เขตเทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง ใช้น้ำจากฝายพุขวางและน้ำบาดาลในการอุปโภคและบริโภค โดยมีกำลังผลิตน้ำ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การไฟฟ้า หน่วยงานที่ให้บริการไฟฟ้ามี 1 แห่ง คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอท่าหลวง การสื่อสารและโทรคมนาคม มี 1 แห่ง คือ ไปรษณีย์โทรเลขอำเภอท่าหลวง ลักษณะการใช้ที่ดิน ส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรม 80% ทำธุรกิจ 10% อยู่อาศัยและสถานที่ราชการ 10%
ด้านเศรษฐกิจ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ/รายได้ของประชากร รายได้เฉลี่ยของประชากร/คน/ปี (ข้อมูลปี 2554) 20,560 บาท ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง การประมงน้ำจืดและค้าขาย การเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด ทานตะวัน ฯลฯ การพาณิชยกรรมและการบริการ สถานประกอบการด้านพานิชยกรรมดังนี้ สถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ (มหาชน) จำกัด จำนวน 1 แห่ง ธนาคารออมสิน จำนวน 1 แห่ง ธนาคาร ธกส. จำนวน 1 แห่ง สหกรณ์ (สหกรณ์นิคมชัยบาดาล) จำนวน 1 แห่ง ตลาดสด (เอกชน) จำนวน 1 แห่ง สถานประกอบการเทศพาณิชย์ โรงฆ่าสัตว์ จำนวน 1 แห่ง การท่องเที่ยว 1 บริเวณแนวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (จุดชมวิวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) อยู่ใกล้กับตลาด ท่าหลวงมีทัศนียภาพที่สวยงามในฤดูน้ำหลาก ประมาณเดือนกันยายน-ธันวาคม นอกจากนั้นยังเป็นแหล่ง ทำประมงน้ำจืดของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีปลาอยู่เป็นจำนวนมาก การเดินทางสามารถใช้เส้นทาง 2256 อยู่ก่อนถึงตลาดท่าหลวงประมาณ 2 กิโลเมตร 2 สถานที่ท่องเที่ยวอื่นใกล้เคียง (ในเขตอำเภอท่าหลวง) - สวนรุกขชาติวังก้านเหลือง น้ำตกวังก้านเหลืองเป็นน้ำตกที่ผ่านการสรรสร้างจากธรรมชาติ น้ำตกแห่งนี้เกิดจากน้ำผุดจำนวนหลายจุดที่ผุดขึ้นมาจากลำห้วยเล็ก ๆ ชื่อว่าห้วยมะกอก จากจุดนี้น้ำจะไหลคดเคี้ยวเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และจะมารวมตัวกันที่อ่างน้ำ ซึ่งเป็นวังกว้างมีสันหินปูนขวางกั้นอยู่ น้ำที่ไหลเอ่อมาจากต้นน้ำจะทิ้งตัวไปปะทะกับหินปูนทำให้เกิดเป็นน้ำตกกว้างกว่า 20 เมตร ลดหลั่นกันไปหลายชั้นดูสวยงามมากนอกจากน้ำตกวังก้านเหลืองแล้วสวนรุกขชาติแห่งนี้ยังมีตาน้ำผุด สะพานแขวน และเส้นทางเดินป่าเพื่อชมธรรมชาติ มีความยาวประมาณ 1,200 เมตร การเดินทางไปสวนรุกขชาติสามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ จากจังหวัดลพบุรีไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ระยะทาง 35 กิโลเมตร ถึงวงเวียนอำเภอโคกสำโรงตรงเข้าสู่ถนนหลายเลข 205 ระยะทาง 45 กิโลเมตร ถึงสี่แยกอำเภอท่าหลวงเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหลายเลข 2256 ระยะทาง 8 กิโลเมตร ถึงสวนรุกขชาติวังก้านเหลือง ส่วนอีกทางเริ่มจากจังหวัดสระบุรีตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ระยะทาง 15 กิโลเมตรจะถึงสามแยกพุแคเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 21 ระยะทาง 50 กิโลเมตรถึงสี่แยกม่วงค่อมเลี้ยวขวาสู่ถนนหมายเลข 2256 ระยะทาง 8 กิโลเมตร ถึงสวนรุกขชาติวังก้านเหลือง - เมืองเก่าซับจำปา และพิพิธภัณฑ์เมืองซับจำปา ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี บนเนินดินสูงของขอบที่ราบภาคกลาง ที่ติดกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณนี้ เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติพิพิธภัณฑ์เมืองซับจำปา เป็นสถานที่เก็บสะสมโบราณวัตถุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองซับจำปา การเดินทางสามารถใช้ถนนหมายเลข 2256 ผ่านอำเภอท่าหลวง ตรงไปด่านขุนทดประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าวัดซับจำปา - สุสานหินเขาสมโภชน์ ในอดีตเขาสมโภชน์เป็นดงทึบที่อุดมด้วยสัตว์ป่าและแหล่งน้ำซับ แต่ปัจจุบันผืนป่าดังกล่าวเหลืออยู่เพียงชนเขาและได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2539 ถือเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะพืชพรรณไม้หลายอย่างที่นี่มีสรรพคุณทางยา เช่น ต้นหนองตายยาก สรรพคุณใช้รักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น บนเขาแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของถ้ำอีกหลายแห่ง ซึ่งหลายถ้ำเคยพบโบราณวัตถุและโครงกระดูกมนุษย์โบราณอยู่ภายใน เช่น ถ้ำหมีพบพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยาตอนปลาย กังสดาล คันศรขนาดใหญ่ ขวานหิน ภาชนะดินเผาและเศษโครงกระดูก นอกจากนี้ยังมีสุสานหินหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ทุ่งหินโผล่ ณ บริเวณเชิงเขาสมโภชน์ เป็นระยะทางเลียบยาวไปตามเชิงเขาราว 1 กิโลเมตร มีสัตว์ป่า สุสานหิน และพืชพรรณไม้ต่าง ๆ การเดินทางสามารถใช้ถนนหมายเลข 2256 ผ่านอำเภอท่าหลวงตรงไปด่านขุนทดประมาณ 20 กิโลเมตร การปศุสัตว์ ประชาชนในเขตเทศบาลส่วนใหญ่มิได้ทำการปศุสัตว์อย่างจริงจังเท่าที่ควร สืบเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด และขาดแคลนทุนทรัพย์แต่ยังมีการทำปศุสัตว์ขนาดเล็กกันอยู่บ้าง เช่น การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ เป็นต้น
ด้านสังคม
ชุมชน ในเขตเทศบาลตำบลบ้านท่าหลวงมีชุมชน จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ 1. ชุมชนบ้านท่าหลวง 2. ชุมชนบ้านเนินท่าหลวงฝั่งตะวันออก 3. ชุมชนบ้านเนินท่าหลวงฝั่งตะวันตก 4. ชุมชนบ้านใหม่ท่าหลวง ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลนับถือศาสนาพุทธ มีวัดจำนวน 2 วัดได้แก่ 1. วัดท่าหลวง 2. วัดพุพะเนียง วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ 1. งานประเพณีสงกรานต์ประมาณเดือน เมษายน กิจกรรมสังเขป มีการสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ รวมทั้งมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การประกวดจัดริ้วขบวน การประกวดเทพีสงกรานต์ การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งฯลฯ 2. งานประเพณีลอยกระทงประมาณเดือน พฤศจิกายน กิจกรรมสังเขป จัดงานประเพณีที่วัดท่าหลวง กลางวันจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ แข่งขันเซปักตะกร้อ กลางคืนมีมโหรสพฯลฯ การศึกษา สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล จำนวน 3 โรงเรียน ดังนี้ 1.โรงเรียนอนุบาลท่าหลวง มีครูจำนวน 29 คน ห้องเรียน 21 ห้อง นักเรียน 582 คน 2.โรงเรียนบ้านท่าหลวง มีครูจำนวน 5 คน ห้องเรียน 7 ห้อง นักเรียน 64 คน 3.โรงเรียนนารายณ์วิทยาท่าหลวง (โรงเรียนเอกชน) มีครูจำนวน 28 คน ห้องเรียน 18 ห้อง นักเรียน 376 คน 4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง ห้องเรียน 4 ห้อง นักเรียน 80 คน กีฬา นันทนาการ/พักผ่อน 1) สนามฟุตบอลจำนวน 2 แห่ง 2) สนามบาสเก็ตบอลจำนวน 1 แห่ง 3) สนามตระกร้อจำนวน 2 แห่ง 4) ห้องสมุดประชาชนจำนวน 1 แห่ง 5) สวนสาธารณะจำนวน 1 แห่ง 6) สวนสุขภาพจำนวน 1 แห่ง สถานบริการสาธารณสุข มีการให้บริการทางสาธารณสุข โดยมีสถานบริการดังนี้ 1. โรงพยาบาล ขนาด 30 เตียง 1 แห่ง (โรงพยาบาลท่าหลวง) 2. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง 3. ร้านขายยาแผนปัจจุบัน 5 แห่ง 4. คลินิกเอกชน 2 แห่ง การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1.รถยนต์ดับเพลิง จำนวน 2 คัน - คันที่ 1 จุน้ำได้ 6,000 ลบ.ม. ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2535 - คันที่ 2 จุน้ำได้12,000 ลบ.ม. ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2553 2. รถบรรทุกน้ำ จำนวน 2 คัน - คันที่ 1 จุน้ำได้ 12,000 ลบ.ม. ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2535 - คันที่ 2 จุน้ำได้ 6,000 ลบ.ม. ได้รับถ่ายโอน พ.ศ. 2548 3. พนักงานดับเพลิง จำนวน 6 คน
สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ภูมิอากาศ ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม 3 ฤดู คือ 1. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ 40 องศาเซลเซียส 2. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ มิถุนายน – กันยายน ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ 1,500 มม. 3. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ ตุลาคม – มกราคม ต่ำสุดเคยวัดได้ 12 องศาเซลเซียส แหล่งน้ำ 1. คลอง ลำธาร ห้วย จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ห้วยพุขวาง 2. แม่น้ำป่าสัก การระบายน้ำ 1. พื้นที่น้ำท่วมถึง คิดเป็นร้อยละ 4 ของพื้นที่ทั้งหมด 2. ระยะเวลาที่น้ำท่วมขังนานที่สุด – วัน ประมาณช่วงระยะฤดูฝน น้ำเสีย 1. ปริมาณน้ำเสีย 50 ลบ.ม./วัน 2. ปัจจุบันยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ขยะ 1.ปริมาณขยะ 7 ตัน/วัน 2. รถยนต์ที่ใช้จัดเก็บขยะ รวม 2 คัน แยกเป็น - รถยนต์คันที่ 1 รถเก็บขนขยะแบบอัดท้าย ขนาดความจุ 5 ลบ.ม.ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2528 - รถยนต์คันที่ 2 รถเก็บขนขยะ ขนาดความจุ 4 ลบ.หลา ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2539 3. ขยะที่เก็บขนได้ จำนวน 7 ลบ.หลา/วัน 4. ขยะที่กำจัดได้ จำนวน 7 ลบ.หลา/วัน กำจัดขยะโดยวิธีกองบนพื้นฝังกลบ 5. ที่ดินสำหรับกำจัดขยะที่กำลังใช้ จำนวน 10 ไร่ ตั้งอยู่ที่หลังสหกรณ์โคนมบ่อคู่ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี - ห่างจากเขตท้องถิ่นเป็นระยะทาง 9 กม. - ที่ดินสำหรับกำจัดขยะที่ใช้ไปแล้ว จำนวน 4 ไร่ - เหลือที่ดินกำจัดขยะได้อีก จำนวน 6 ไร่ - คาดว่าจะสามารถกำจัดขยะได้อีก ประมาณ 5 ปี 6. สภาพการเป็นเจ้าของที่ดินสำหรับกำจัดขยะ - ท้องถิ่นได้รับบริจาคจากประชาชน เมื่อ พ.ศ. 2541
การเมือง - การบริหาร
โครงสร้างและอัตรากำลังในการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง ประกอบด้วย 1. นายวุฒิศักดิ์ บำรุงพานิชย์ ประธานสภาเทศบาล 2. นายพิเชษฐ์ กะพงษ์ทอง รองประธานสภาเทศบาล 3. นายนกเล็ก ครองสัตย์ สมาชิกสภาเทศบาล 4. นายบัญชา สีเกิดพงษ์ สมาชิกสภาเทศบาล 5. นายวินัย สามสี สมาชิกสภาเทศบาล 6. นายสมเกียรติ สอนดา สมาชิกสภาเทศบาล 7. นายประสิทธิ์ งานสลุง สมาชิกสภาเทศบาล 8. นางสาวนงลักษณ์ สังข์ทอง สมาชิกสภาเทศบาล 9. นายจิรายุส ผดุงกลิ่น สมาชิกสภาเทศบาล 10. นายสมชาย กล่อมใจ สมาชิกสภาเทศบาล 11. นายสำรวย ทันประโยชน์ สมาชิกสภาเทศบาล 12. นางบุปผา หมื่นชาตรี สมาชิกสภาเทศบาล คณะผู้บริหาร ประกอบด้วย 1. นายภิรมย์ ผดุงกลิ่น นายกเทศมนตรี 2. นางสาวพรประภา ผดุงกลิ่น รองนายกเทศมนตรี 3. นายวิโรจน์ ผดุงกลิ่น รองนายกเทศมนตรี 4. นายณรงค์ศักดิ์ ดีผลิผล ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี การจัดส่วนราชการของเทศบาล ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดส่วนของเทศบาล พ.ศ.2533 เทศบาลตำบลบ้านท่าหลวง มีการจัดส่วนราชการ ดังนี้ - สำนักปลัดเทศบาล - กองคลัง - กองช่าง - กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม - กองการศึกษา - กองการประปา การคลัง เทศบาลเป็นหน่วยงานปกครองท้องถิ่นที่มีรายได้เป็นของตนเอง เช่นเดียวกับหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ โดยโครงสร้างรายได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งกำหนดว่าเทศบาลอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้ 1. ภาษีอากร 2. ค่าธรรมเนียมค่าปรับและใบอนุญาต 3. รายได้จากทรัพย์สิน 4. รายได้จากสาธารณูปโภคและพาณิชย์ 5. รายได้เบ็ดเตล็ด 6. รายได้จากเงินกู้ เงินอุดหนุน เงินอุทิศ และรายได้อื่นที่กฎหมายกำหนด การดำเนินกิจการพาณิชย์ของเทศบาล - โรงฆ่าสัตว์เทศบาลจำนวน 1 แห่ง - กิจการประปาเทศบาลมีกำลังการผลิตประมาณ 700 ลบ.ม./วัน